การออกแบบและการจัดการเรียนรู้ สอนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิจิตรา ธงพานิช ผู้จัดทำ นางสาวสุทธิดา เชีียรรัมย์

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561

การปฏิรูปการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ





คำว่าผู้เรียนเป็นสำคัญมาจากบทบัญญัติในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่บัญญัติไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดกระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ  สำหรับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนี้เป็นการจัดหลักการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานทฤษฎีการเรียนรู้หลายทฤษฎี เช่น พุทธปรัชญาจิตวิทยาสาขามนุษยนิยม (Humanistic Approach) ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Learning) เสื้อเกี่ยวกับเรื่องนี้มีนักคิดกล่าวไว้หลายท่าน( กลุ่มวิชาการ 2543, หน้า 3-4) เช่น
พระราชวรมณี
(ประยูร ธมมจิตโต,2540, หน้า 13)กล่าวว่าเด็กเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ครูต้องสร้างความใฝ่รู้ขึ้นในจิตใจของเด็กให้ได้คือให้มีธรรมฉันทะ คือความใฝ่รู้ และกัตตกัมยตา ฉันทะ คือ ความใฝ่ธรรม เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ครูสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เป็นสัปปริสสังเสวะ หมายความว่าครูเป็นกัลยาณมิตร คือ เพื่อนที่ดีมีเมตตาให้ความรักความอบอุ่นแก่ผู้เรียนครูอาจจะใช้วิธีการเสริมแรงทางบวกให้มากขึ้นจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยถือว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความสนใจและความสามารถของผู้เรียน
ส่วนประเวศ วะสี (2541, หน้า 1) มองในเชิงหลักการว่า การจัดการเรียนรู้ที่เอาชีวิตจริงของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง เรียนรู้เพื่อสร้างปัญญาให้ตนเอง รู้จักตนเอง รู้จักโลก สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม อยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีความสุข สนุกสนาน และเกิดฉันทะในการเรียนรู้
สำหรับสุมน อมรวิวัฒน์ (2547, หน้า 12) มีแนวคิดว่า การเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีอิสรภาพได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์เรียนรู้อย่างมีความสุข เน้นกระบวนการคิด ปฏิบัติได้จริง สอดคล้องกับความถนัด สอดคล้องกับคติ สอนให้ทำ นำให้คิด ลงมือทำ เรียนรู้สอนตนเองเอาความจริงเป็นตัวตั้งเอาวิชาเป็นตัวประกอบ
แต่โกวิท ประวาลพฤกษ์ (2545, หน้า 8) มีแนวคิดสู่ปฏิบัติการให้เกิดจริงว่าการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด ภายหลังจากการเรียนรู้ต้องการให้ผู้เรียนมีแนวคิดบางอย่างและลงมือปฏิบัติได้ถูกต้องแม่นยำ ด้วยความรู้สึกชื่นชมยินดี อันเป็นการสร้างบุคลิกภาพที่ดี คุณธรรมและพัฒนาการรอบด้านของผู้เรียน ถ้าการศึกษาจัดได้ครบถ้วนด้วยกระบวนการดังกล่าว มาแล้ว ผู้เรียนก็จะเป็นผู้คิดเองได้ ตัดสินใจเองได้ ลงมือปฏิบัติควบคุมตนเองได้ มีศักยภาพในการตัดสินใจ และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นประจำ คิดและทำเพื่อประโยชน์ของสังคมไทยโดยส่วนรวมกันเป็นค่านิยมที่พึงประสงค์ของชาติสืบไป
และทิศนา แขมมณี (2548, หน้า 32) มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง การเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญที่สุด กล่าวคือ ผู้เรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งทางร่างกาย ปัญญา สังคมและอารมณ์ ได้มีโอกาสแสวงหาความรู้ ข้อมูลคิดวิเคราะห์ และสร้างความหมายความเข้าใจในสาระในกระบวนการต่างๆด้วยตนเองรวมทั้งด้านลงมือปฏิบัติและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
จากแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว สามารถสรุปเป็นความหมายเชิงปรัชญาและเชิงปฏิบัติการได้ดังนี้
1. การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุดหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เอาชีวิตจริงและเงื่อนไขการรับรู้ของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ผู้เรียนมีอิสระภาพได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ทั้งจิตใจ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม ผู้เรียนได้รับการพัฒนาแบบองค์รวมได้รับการฝึกให้มีศักยภาพในการสร้างรูปแบบคิดผู้เรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรมการเรียนรู้ได้ถูกต้องแม่นยำด้วยความรู้สึกที่ดีงามอันเป็นการสร้างบุคลิกที่ดีงาม เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ จากการปฏิบัติของตนเอง คิดอย่างมีระบบและมีวิจารณญาณอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
2. เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติจริง ได้พัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ ศึกษาค้นคว้า ทดลอง และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ตามความถนัดความสนใจด้วยวิธีการ กระบวนการและใช้แหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในและนอกห้องเรียน ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ได้มาตรฐานตามที่หลักสูตรกำหนด มีความรู้ชื่นชมยินดีในผลการปฏิบัติของตน สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน สังคมและส่วนรวม
3. เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้จัดหรือครูผู้สอนดำเนินการให้สอดคล้องกับผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ความสามารถทางปัญญา วิธีการเรียนรู้โดยบูรณาการคุณธรรม ค่านิยม อันพึงประสงค์บางแผนการจัดกิจกรรม และประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเป็นระบบให้ผู้เรียนได้พัฒนาสติปัญญา อารมณ์ และทักษะการปฏิบัติส่งเสริมสนับสนุนการนำความรู้ไปใช้ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในสถานศึกษา ให้พัฒนา กระบวนการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ครูผู้สอนทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนและสนับสนุนด้านทรัพยากรการลงทุน เพื่อศึกษาพร้อมทั้งดูแลตรวจสอบกระบวนการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากข้อสรุปและแนวคิดของผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆข้างต้น ในขณะนี้ทุกหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักในความสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้จึงได้พัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างหลากหลาย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ หน่วยงานต่างๆดังต่อไปนี้
            สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2545, หน้า 8-10) ได้สรุปการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ไว้ดังนี้
1.การจัดการศึกษาต้องเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและประสบการณ์การเรียนรู้ยึดหลักดังนี้
   1.1 ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้นจึงต้องจัดสภาพแวดล้อมบรรยากาศรวมทั้งแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้หลากหลายเพื่อเอื้อต่อความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจเหมาะสมแก่วัย และศักยภาพของผู้เรียน เพื่อให้การเยนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่และเป็นการเรียนรู้กันและกัน อันก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง บุคคล ชุมชน และทุกส่วนของสังคม
1.2 ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดเรียนการสอนมุ่งเน้นประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้เกิดการใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

2. ผู้ปลูกฝังและสร้างลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับผู้เรียน โดยนัยความรู้คุณธรรมค่านิยมที่ดีงาม และบูรณาการความรู้ในเรื่องต่างๆอย่างสมดุลรวมทั้งการฝึกทักษะกระบวนการคิดการจัดการอย่างมีวิจารณญาณการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ใช้ความรู้โดยให้ผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆดังนี้
2.1 ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัวชุมชน ชาติ และ สังคมโลก ร่วมแห่งความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.2 ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ เรื่องการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน
2.3 ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการรู้จักประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
2.4 ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาเน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
2.5 ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

3.  กระบวนการเรียนรู้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ. ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ. ศ. 2545 ได้กำหนดแนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
3.1 จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
3.2 ให้มีการฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
3.3 จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงฝึกการปฏิบัติให้ทำได้คิดเป็นทำเป็นรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
3.4 จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานความรู้ต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
3.5 ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมสื่อการสอนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
3.6 ผู้เรียนและผู้สอนเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ
3.7 การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดาผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร(อ้างในสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ2543, หน้า 36-37) ได้ระบุถึงการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญและมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้เป็นคนเก่งคนดีและมีความสุขโดยมีกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งหมด 11 กิจกรรมคือ
1. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านมนุษยสัมพันธ์
2. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์และมิติสัมพันธ์
3. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านเหตุผลคณิตศาสตร์
4. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านภาษา
5. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านดนตรี
6. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านศิลปะ
7. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านพลศึกษา
8. กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
9. กิจกรรมศูนย์เพื่อนเด็กจิตวิทยาแนะนำและสภาพแวดล้อมในโรงเรียน
10. กิจกรรมศูนย์วิทยาการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน
11.กิจกรรมการวัดและประเมินผลที่เสริมสร้างศักยภาพผู้เรียน
สำนักคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 2543 หน้า 31-32 ในฐานะหน่วยปฏิบัติที่ดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับปฐมวัยประถมศึกษาได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุดเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นคนเก่งคนดีมีความสุขโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ 5 ลักษณะคือ

              1.  การเรียนรู้อย่างมีความสุขเป็นสภาพการจัดการเรียนการสอนในบรรยากาศที่ผ่อนคลายมีอิสระยอมรับความแตกต่างของบุคคลมีหลากหลายในวิธีการเรียนรู้
2. การเรียนรู้แบบองค์รวมเป็นการเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องกลมกลืนกันทั้งในเรื่องใกล้ตัวในท้องถิ่นสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เรื่องของสากลการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมโลก
3 การเรียนรู้จากการเกิดและการปฏิบัติเป็นการจัดการเรียนให้ได้ฝึกคิดและปฏิบัติจริงโดยศึกษาประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้ สื่อ เหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวต่างๆ และสรุปเป็นองค์ความรู้แก่ตนเอง
4 การเรียนรู้ร่วมกับ บุคคลอื่น เป็นกระบวนการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยการถ่ายทอดในแลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรม อารมณ์ และสังคมร่วมกัน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
5. การเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของตนเองเป็นการรับรู้ลีลาการเรียนรู้และความถนัดของตนเองเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนวิเคราะห์ประเมินจุดดีจุดด้อยและปรับปรุงกระบวนการการเรียนรู้ของตนเองเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสม
จากแนวคิดและหลักการของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญที่นำเสนอในข้างต้นสามารถนำมาเป็นกรอบในการออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้หรือวิธีสอนตามแนวปฏิรูปการศึกษาได้หลากหลายวิธีได้แก่
1.วิธีสอนแบบโครงงาน
2. วิธีสอนแบบ 4 Mat
3. วิธีสอนแบบร่วมมือ
4. วิธีสอนแบบซิปปา
5. วิธีสอนแบบบูรณาการ
6. วิธีสอนแบบใช้เส้นเล่าเรื่อง
7. วิธีสอนแบบปุจฉาวิสัชนา
8. วิธีสอนแบบโครงสร้างความรู้



อ้างอิง 
ผศ.ดร.พิจิตรา ธงพานิช.วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน.นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น